การเขียนสารคดีมีหลักในการเขียน
ดังนี้
1. การเลือกเรื่อง เรื่องที่นำมาเขียนเป็นสารคดี จะต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ หรือทันสมัย
หากเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป
หรือเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ก็ควรนำเสนอให้น่าสนใจด้วยมุมมองที่แปลกใหม่ มีประโยชน์แก่ผู้อ่าน และมุ่งนำเสนอข้อเขียนที่เป็นความรู้ ความคิดจากเรื่องจริง เหตุการณ์จริง
และจะต้องเขียนให้อ่านเพลิดเพลิน
มีอรรถรส
2. การตั้งชื่อเรื่อง ควรตั้งชื่อเรื่องให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ สะดุดหู
สะดุดตา
ควรเป็นชื่อที่เข้ายุคเข้าสมัยในปัจจุบัน
ควรหาคำที่มีความหมายกว้าง ๆ
เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหา
แต่ชื่อเรื่องต้องตรงกับเนื้อหาด้วย
แนวทางการตั้งชื่อเรื่อง
- แบบชี้นำเนื้อหา โดยการนำความสำคัญของเนื้อหามาสรุปเป็นความคิดรวบยอดเช่น ครูไทย...ภารกิจที่ไม่มีวันเสร็จสิ้น, ยาบ้ามหาภัย
- แบบสำบัดสำนวน นำสำนวนแปลก ๆมาใช้ เช่น แสนแสบแสบสยิว
สยึ๋มกึ๋ย
- แบบคนคุ้นเคย เหมือนผู้เขียนคุ้นเคยกับผู้อ่าน เช่น
มาช่วยกันป้องกันเหตุร้ายกันเถอะ
การอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านจัดสรร
- แบบคำถาม เช่น
จริงหรือที่เขาว่าหัวหินสิ้นมนต์ขลัง
- แบบชวนฉงน เช่น
ตายแล้วฟื้น, ตายแล้วไป....
3. กำหนดจุดมุ่งหมายและแนวคิดสำคัญ
การกำหนดจุดมุ่งหมายอาจตั้งคำถามว่าต้องการเขียนให้ใครอ่าน
ต้องการให้ผู้อ่านคิด/ ทำอย่างไร
ผู้เขียนต้องกำหนดแนวคิดให้ชัดเจนว่า
สารคดีเรื่องนี้ต้องการจะเสนอแนวคิดสำคัญอะไร มีแก่นเรื่องอะไรนำเสนอแก่ผู้อ่าน
เพื่อจะได้นำเสนอเนื้อหาถ่ายทอดถ้อยคำหรือประโยคต่าง ๆ
เพื่อมุ่งสู่แก่นเรื่องนั้น
4. การหาข้อมูล แหล่งความรู้ที่ใช้ประกอบการเขียนสารคดี ได้แก่
หนังสือ สารานุกรม นิตยสาร
วารสาร วิทยุ โทรทัศน์
อินเทอร์เน็ต การสัมภาษณ์ การสนทนา
และการเก็บข้อมูลภาคสนาม เป็นต้น
5. การวางโครงเรื่อง ผู้เขียนต้องวางโครงเรื่องก่อนเขียน เพื่อเป็นแนวทางในการเขียน ว่าจะนำเสนอสาระสำคัญ แยกเป็นกี่ประเด็น ประเด็นใหญ่ ๆ มีอะไรบ้าง ในประเด็นหลักมีประเด็นย่อย ๆ มีตัวอย่าง
มีเหตุผล
เพื่อสนับสนุนประเด็นหลักอย่างไรบ้าง
การวางโครงเรื่องจะช่วยให้เขียนเรื่องได้โดยง่าย ไม่สับสน
วกวน นอกเรื่อง ทำให้เรื่องมีเอกภาพ มีลำดับต่อเนื่องกัน และได้เนื้อความครบถ้วน
6. การลงมือเขียน
สารคดีมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับความเรียงทั่วไป คือ
- ความนำ /
การเปิดเรื่อง
- เนื้อเรื่อง /
การดำเนินเรื่อง
- ความลงท้าย / การปิดเรื่อง
6.1 ความนำ /
การเปิดเรื่อง
เป็นการเปิดเรื่องบอกกล่าวให้ผู้อ่านรู้ก่อนว่าจะเขียนอะไร เพื่อชักจูงให้ผู้อ่านสนใจ การขึ้นความนำอาจทำได้หลายประการ เช่น
- แบบสรุปเนื้อหาให้ผู้อ่านรู้ว่า ใคร
ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร
ทำไม
- ขึ้นต้นจากชื่อเรื่องซึ่งเป็นเนื้อหาหลัก
- เรื่องในสังคมที่คนกำลังสนใจ
- คำพูดของบุคคลสำคัญ
- เล่าเรื่องลักษณะคล้ายนิทานแล้วโยงเข้าหาเนื้อเรื่อง
- เหตูการณ์สำคัญในเรื่อง
- ยกสุภาษิต คำพังเพย
กวี นิพนธ์ คำคม
- ใช้ประโยคสำคัญ ที่ปรากฏในเนื้อเรื่องมากล่าว
- ใช้คำถาม
- ยกเหตุการณ์เปรียบเทียบ
- พรรณนา
- ย้อนอดีต โยงเข้าสู่เหตุการณ์ปัจจุบัน
6.2 เนื้อเรื่อง / การดำเนินเรื่อง
กลวิธีการดำเนินเรื่องของสารคดีอาจเป็นการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้เขียน หรือมีการแทรกบทสนทนา หรือบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง
ผู้เขียนต้องสอดแทรกความคิดเห็นของตนในเนื้อเรื่องด้วย เนื้อเรื่องต้องมีส่วนที่เป็นใจความหลัก
และส่วนขยายความให้เนื้อหาชัดเจนขึ้น
เช่น การเสนอข้อมูลแสดงสถิติ แสดงการเปรียบเทียบ ตัวอย่างประกอบ แต่อย่าให้มากเกินไป
6.3 ความลงท้าย / การปิดเรื่อง เป็นส่วนทำให้ผู้อ่านประทับใจ ควรเขียนให้กะทัดรัดจับใจผู้อ่าน โดยการสรุปข้อมูล ข้อคิด แสดงข้อคิดเห็น คำแนะนำ
วิธีแก้ปัญหาของผู้เขียน
อย่างสร้างสรรค์
โน้มน้าวให้เกิดความร่วมมือ
สรุปให้เกิดความตระหนัก
7. การใช้ภาษา
ควรใช้ภาษาที่ชัดเจน
ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์
เพราะจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย
หากเป็นการใช้ศัพท์เฉพาะหรือภาถิ่นควรอธิบายความหมายไว้ด้วย นอกจากนี้ควรใช้โวหาร สำนวน
ภาพพจน์
ตลอดจนระดับภาษาให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง
จะเขียนแบบพรรณนา บรรยาย อธิบาย
หรือ โน้มน้าว ก็ได้
8. ความยาวของสารคดี ไม่ควรมีความยาวมากเกินไป เพราะสารคดีมีลักษณะเป็นบทเป็นตอน ไม่ใช่ตำราหรือหนังสืออ้างอิง จึงควรมีความยาวในการอ่านประมาณ ๑๕
นาที
9. การสร้างลีลาการเขียนเฉพาะตัว
แต่ละคนมีลักษณะและลีลาการเขียนที่แตกต่างกัน จะเลือกแบบใดก็ได้
แต่อย่าลืมว่าผู้เขียนได้ดีต้องเป็นนักอ่านที่ดีมาก่อน
แล้วจึงเลือกหาแนวถนัดของตนเองโดยไม่เลียนแบบผู้อื่น
10. ทบทวนและปรับปรุง
เมื่อจบเรื่องควรทบทวนดูสาระของเรื่องว่าตรงกับชื่อเรื่องที่ตั้งไว้หรือไม่ จากนั้นอ่านตรวจทานอีกครั้ง หรือถ้าได้เก็บเรื่องที่เขียนไว้สัก ๒ – ๓ วัน แล้วนำกลับมาอ่านตรวจอีกครั้งหนึ่ง ก็จะยิ่งดี
ที่มา : http://sirimajan.exteen.com/20120618/entry
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น